วันอังคารที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2552

ทำบุญวันเกิด และ ทำบุญอายุ

ทำบุญวันเกิด และทำบุญอายุ : จากการหาข้อมูลเรื่องของการ ทำบุญวันเกิด ก็ได้พบข้อมูลอีกเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกัน คือ เรื่องของการทำบุญอายุ โดยผมขอยกบทความมาจากเวบพลังจิต (http://board.palungjit.com/f14/ประเพณีทำบุญวันเกิด-และทำบุญอายุ-83825.html) ครับ


ทำบุญวันเกิด

ประวัติความเป็นมา
ในสมัยพุทธกาล มีพราหมณ์ ๒ คนผัวเมีย พาลูกน้อยของตนไปหาพราหมณ์ที่เป็นสหายซึ่งถือพรตบำเพ็ญตบะ เมื่อพราหมณ์ ๒ ผัวเมียทำความเคารพ พราหมณ์ที่บำเพ็ญตบะได้กล่าวอำนวยพรว่า " ขอจงจำเริญอายุยืนนาน" แต่เมื่อให้บุตรของตนทำความเคารพ พราหมณ์ผู้บำเพ็ญตบะหาได้กล่าวอวยพรให้ตามธรรมเนียมไม่ โดยบอกเหตุผลบอกว่า ลูกน้อยของพราหมณ์ ๒ ผัวเมียจะต้องตายภายใน ๗ วัน

พราหมณ์ผู้บำเพ็ญตบะ ได้แนะนำให้พราหมณ์ ๒ ผัวเมียพาลูกไปหาพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ได้ตรัสแถลงเช่นเดียวกัน และแนะนำอุบายป้องกัน โดยการนิมนต์พระสงฆ์สวดพระปริตรตลอด ๗ วัน ซึ่งพราหมณ์ทั้งสองก็กระทำตาม

ครั้นถึงวันที่ ๗ พระพุทธองค์เสด็จไปด้วยพระองค์เอง ทำให้ยักษ์ผู้ได้รับพรมาเพื่อฆ่ากุมารไม่อาจทำอันตรายพระกุมารนั้นนอนฟังพระปริตรอยู่ ด้วยพุทธานุภาพประกอบกับอายุไม่ถึงการดับแห่งขาร ทำให้ทารกนั้นรอดพ้นอันตราย และมีอายุยืนยาวถึง ๑๒๐ ปี
พิธีทำบุญเกิด และพิธีทำบุญอายุนั้น จัดขึ้นเพื่อความต้องการความสุขสวัสดีมีอายุยืนยาวเจริญวัฒนาต่อไปในภายภาคหน้า ส่วนใหญ่หากเป็นการทำบุญวันครบรอบวันเกิด โดยทั่วไปก็ไม่ค่อยจัดใหญ่โตอะไรนัก แค่ทำบุญตักบาตรพระในตอนเช้า หรือถวายภัตตาหารพระที่วัด เสร็จแล้วจึงถวายจตุปัจจัยไทยธรรมตามศรัทธา เมื่อพระสวดเจริญพระพุทธมนต์ให้พร อนุโมทนา และกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล ก็เป็นอันเสร็จพิธี

สำหรับการทำบุญอายุนั้น นิยมจัดเป็นงานใหญ่กว่าการทำบุญวันเกิด โดยทั่วไป เมื่ออยู่ในช่วงที่มีอายุเบญจเพส คือ ๒๕ ปี หรือช่วงที่มีอายุกลางคน คือ ๕๐ ปี หรือทำเมื่อครบรอบทุกๆ ๑๒ ปี ซึ่งมักนิยมทำกันเมื่อครบ ๕ รอบ คือ ๖๐ ปี และ ๖ รอบ คือ ๗๒ ปี
สาเหตุที่นิยมทำเมื่ออายุครบ ๒๕ ปี เพราะวัยเบญจเพสเป็นช่วง หัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต จากวัยรุ่นเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ส่วนทำเมื่อครบ ๕๐ ปีนั้น เพราะถือว่าอายุยืนยาว มาได้ครึ่งหนึ่งของชีวิตแล้ว จึงควรทำบุญและเลี้ยงฉลอง แสดงความยินดี

พิธีการทำบุญอายุ
เมื่อจะทำบุญอายุ ให้จัดเตรียมสถานที่และนิมนต์พระสงฆ์มาสวดเจริญ พระพุทธมนต์ โดยให้โหรเป็นผู้กำหนดฤกษ์และมาเป็นผู้ประกอบพิธี การนิมนต์พระต้องนิมนต์ให้มากกว่าอายุ ๑ องค์ เช่น อายุ ๒๕ ก็ให้นิมนต์ ๒๖ องค์ หรือนิมนต์เพียง ๙ องค์เท่าจำนวน ดาวนพเคราะห์ก็ได้ และเป็นการสะดวกต่อการจัดสถานที่การทำพิธีด้วยประการทั้งปวง
สิ่งของที่ต้องเตรียม

ให้เตรียมเทียนขี้ผึ้งอย่างดีไว้ ๒ เล่ม เล่มหนึ่งหนัก ๙ บาท ไส้ยาวโดยวัดรอบศีรษะของเจ้าภาพจำนวน ๓๓ เส้น อีกเล่มหนึ่งมีขนาดสูงเท่าตัวเจ้าภาพ หนักเท่าอายุ ไส้ทำเท่าอายุ คือ อายุ ๒๕ ก็ทำ ๒๕ เส้น เทียนนี้จะต้องจัดทำด้วย ความประณีต หาที่บังลมให้ดี เมื่อจุดแล้วอย่าให้ลมพัดดับหรือล้มได้

นอกจากนี้ยังให้เตรียมผ้าขาวนุ่ง ๑ ผืน ทำบัตรพลีเทวดาเป็นบัตร ๙ ชั้น ๑ บัตร (เป็นบัตรพลีพระเกตุ) และ ๓ ชั้น ๘ บัตร (ตั้งเป็นบัตรพลีเทวดาประจำทิศต่างๆ รวม ๘ ทิศ) ฉะนั้นบัตรพลีต้องมี ๙ บัตร ทำด้วยกาบกล้วย ติดธงสีประจำวันเทวดา มีรูปเทวดาบัตรละองค์ ใส่ขนมอาหารหวานคาว รวมทั้งข้าวตอก ดอกไม้ ธูปเทียน จัดประดับให้สวยงาม (ส่วนใหญ่ผู้รับทำพิธีจะเป็นธุระจัดหาและตระเตรียมข้าวของเครื่องใช้ที่สำคัญๆ ให้เอง)

การประกอบพิธี
ครั้นถึงวันงาน เมื่อเจ้าภาพจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัยแล้ว ให้จุดเทียนมงคลบูชาเทวดานพเคราะห์ด้วย ต่อจากนั้น จึงรับศีลและฟังพระสวดพระพุทธมนต์ ถวายจตุปัจจัยไทยธรรม กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล เมื่อพระกลับแล้วจึงมีการกินเลี้ยงฉลองหรือมีการละเล่นรื่นเริง

วันรุ่งขึ้นมีการถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์ พอได้ฤกษ์เจ้าภาพจะนุ่งขาวห่มขาว มาอาบน้ำมนต์มีผู้ใหญ่รดน้ำอำนวยพร แล้วเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวตามเพื่อความเป็นสิริมงคล

การนุ่งผ้าสีตามวัน จากสวัสดิรักษาคำกลอนของสุนทรภู่ มีดังนี้

วันอาทิตย์ สิทธิโชคโฉลกดี
เอาเครื่องสีแดงทรงเป็นมงคล
เครื่อง วันจันทร์ นั้นควรสีนวลขาว
จะยืนยาวชันษาสถาผล
อังคาร ม่วงช่วงงามสีครามปน
เป็นมงคลขัตติยาเข้าราวี
เครื่อง วันพุธ สดุดีด้วยสีแสด
กับเหลืองแปดปนประดับสลับสี
วันพฤหัสบดี จัดเครื่องเขียวเหลืองดี
วันศุกร์ สีเมฆหมอกอกสงคราม
วันเสาร์ ทรงดำจำล้ำเลิศ
แสนประเสริฐเสี้ยนศึกจะนึกขาม
ทั้งพาชีขี่ขับประดับงาม
ให้ต้องตามสีสรรพ์จึงกันภัยฯ

หรือจะนุ่งห่มตามสีของวันก็ได้ มีดังนี้
วันอาทิตย์ สีแดง วันจันทร์ สีเหลือง วันอังคาร สีชมพู วันพุธ สีเขียว วันพฤหัสบดี สีแสด วันศุกร์ สีฟ้า วันเสาร์ สีม่วง

เป็นอีกหนึ่งข้อมูลดีๆ ที่บล๊อคทําบุญวันเกิดของเรา ขอนำมาเสนอให้ครับ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น